ทำไมถึงเรียกว่าแกลลอน ?

หากให้พูดถึงภาชนะพลาสติกแบบขวดที่มีหูหิ้วและมีฝาเกลียวปิด หลายคนต้องนึกถึงแกลลอนกันอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการบรรจุของเหลวในปริมาณมาก โดยสามารถนำมาใช้สำหรับเป็นบรรจุภัณฑ์ของเหลวได้อย่างหลากหลาย ทั้งของกินและสารเคมี วันนี้เราจึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแกลลอนพลาสติกกันให้มากขึ้น

แกลลอน

แกลลอนคืออะไร?

แกลลอนพลาสติกในต่างประเทศจะนิยมใช้คำว่า Jerrican หรือ Jerrycan แต่ของต่างประเทศจะมีรูปทรงที่หลากหลายกว่าแกลลอนพลาสติกในบ้านเรา รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ได้มีการดัดแปลงเล็กน้อยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำมันเชื้อเพลิงในกองทัพ ที่ง่ายต่อการขนส่งและสะดวกสำหรับการกักตุน ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบของแกลลอนโดยวิศวกรชาวอเมริกันสำหรับใช้เป็นภาชนะเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ โดยออกแบบให้มีน้ำหนักที่เบากว่าของเยอรมัน เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบแกลลอนมาให้สำหรับใส่น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงสงคราม โดยถูกออกแบบให้มีหูจับทั้งหมด 3 อัน ถ้าหากเป็นการยกแกลลอนคนเดียวก็ให้จับบริเวณหูที่อยู่ตรงกลาง แล้วถ้าหากช่วยกันถือ 2 คนก็สามารถเปลี่ยนมาถือหูจับด้านข้างคนละฝั่งได้

เรียกได้ว่าในช่วงสงครามนั้น แกลลอนพลาสติกถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงและของเหลวอื่นๆ แต่ในปัจจุบันแกลลอนพลาสติกกลายเป็นบรรจุภัณฑ์ยอดนิยมสำหรับใส่ของเหลวได้ในปริมาณมาก และสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ซึ่งแกลลอนพลาสติกในบ้านเราปัจจุบันผลิตจากพลาสติก HDPE หรือพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ซึ่งมีทั้งแบบขาวขุ่น-ใส และแบบขาวขุ่น-ทึบ โดยมีรูปทรงทั้งแบบกลมและแบบเหลี่ยมขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการ ว่าจะใช้แกลลอนพลาสติกในรูปแบบใดเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของตนเอง โดยมีฝาปิดเป็นเกลียวหมุนและมีหูจับในตัวที่ให้สะดวกในการขนย้ายและหยิบใช้งาน โดยทั่วไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุของเหลวต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและสารเคมี เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมันพืช ซอสปรุงรส นมพาสเจอร์ไรส์ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน แชมพู ครีมนวดผม น้ำมันเครื่อง และสารเคมีต่าง ๆ

ทำไมถึงเรียกว่าแกลลอน?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในต่างประเทศจะมีคำเรียกของบรรจุภัณฑ์ที่มีฝาปิดและมีหูหิ้วลักษณะนี้ว่า Jerrican หรือ Jerrycan แต่ในบ้านเรากลับนิยมเรียกว่าแกลลอน สาเหตุที่เรียกว่าแกลลอนนั่นเป็นเพราะว่าหน่วยที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ในต่างประเทศใช้หน่วยเป็นแกลลอนนั่นเอง โดย 1 แกลลอนจะเท่ากับ 3.785 ลิตร ซึ่งหน่วยแกลลอนนั้น มีต้นกำเนิดมาจากระบบการวัดปริมาตรของไวน์และเบียร์ในประเทศอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีนําเข้า และเมื่อมีการนำมาใช้ใส่น้ำมันหรือสารเคมีในขนาดพอดีหน่วย 1 แกลลอน จึงทำให้มีการเรียกติดปากต่อ ๆ กันมาสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีหูจับและมีฝาปิดว่าแกลลอน จนกลายมาเป็นชื่อเรียกของบรรจุภัณฑ์รูปแบบนี้ในบ้านเรา

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วขนาดของแกลลอนพลาสติกที่ใช้กันอยู่ ก็จะมีขนาดตั้งแต่ 1 ลิตร ไปจนถึง 10 ลิตรขึ้นไป โดยขนาด 1 ลิตรก็นิยมใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับการบรรจุสารเคมีหรืออาหารที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ให้หมดโดยเร็วหลังจากเปิดใช้งาน เช่น นมสดพาสเจอร์ไรส์ หัวเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น ในขณะที่แกลลอนขนาด 3 ลิตรแต่ไม่เกิน 10 ลิตร ก็เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีระยะเวลาวันหมดอายุค่อนข้างนาน สามารถเก็บเอาไว้ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวเสียสภาพ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น ส่วนแกลลอนพลาสติกที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้นาน และมีการใช้ในปริมาณมาก เช่น แกลลอนน้ำดื่มขนาด 20 ลิตร แกลลอนใส่สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น

ประโยชน์ของแกลลอนพลาสติก

ประโยชน์และข้อดีหลัก ๆ ของแกลลอนพลาสติก คือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับใส่ของเหลวในปริมาณมาก มีโครงสร้างที่แข็งแรงทั้งภายในและภายนอก ทนทานต่อแรงกระแทกและการกัดกร่อนของสารเคมี มีฝาปิดสนิทมิดชิด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ด้านในแกลลอนนั้นยังคงสภาพเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีหูจับทำให้สามารถเคลื่อนย้ายและขนส่งได้อย่างสะดวก นอกจากนี้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในแกลลอนพลาสติกหมดไปแล้ว ก็ยังสามารถนำเอาแกลลอนพลาสติกนั้นไปรีไซเคิล หรือ DIY เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้อีกด้วย

การใช้งานแกลลอนพลาสติก

ในปัจจุบันแกลลอนพลาสติกถูกนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ของเหลว ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของแกลลอนพลาสติกนั่นก็คือ สามารถใส่ของเหลวได้ในปริมาณมาก มีโครงสร้างแข็งแรงทนทาน ไม่ถูกกัดกร่อนโดยสารเคมี มีฝาปิดมิดชิด มีหูจับทำให้สามารถเคลื่อนย้ายและใช้งานได้อย่างสะดวก โดยสามารถแบ่งการใช้แกลลอนพลาสติกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สารเคมี สารเคมีถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้งานในบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำมันเครื่อง สารเคมีในกลุ่มก่อสร้าง ไปจนถึงสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับใส่สารเคมีต่างๆเหล่านี้ จะต้องทนต่อการปนเปื้อนและการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดี มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทาน สามารถบรรจุได้เป็นปริมาณมากและมีหลายขนาดให้เลือก อีกทั้งยังต้องมีฝาปิดมิดชิด และมีให้เลือกหลากหลายขนาดตามความต้องการใช้งาน ดังนั้นแกลลอนพลาสติกจึงกลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการใส่ของเหลวที่เป็นสารเคมีเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารก็ย่อมต้องการบรรจุภัณฑ์ใส่ของเหลวที่มีความทนทานแข็งแรง และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้บรรจุอาหารด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเลือกบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ของเหลวที่เป็นอาหารในปริมาณมาก แกลลอนพลาสติกจึงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะนอกจากจะมีความทนทานแข็งแรงแล้ว ยังทนต่อฤทธิ์ที่เป็นกรดหรือด่างของอาหาร อีกทั้งยังมีหลายขนาดให้เลือกและสามารถติดโลโก้สินค้ารวมไปถึงติดฉลากเพื่อแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดได้อย่างสะดวก

วัสดุที่ใช้ในการทำแกลลอนพลาสติก

ในปัจจุบันแกลลอนพลาสติกผลิตมาจากพลาสติก HDPE หรือพลาสติกความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงและมีความเหนียวมีความทนทานต่อสารเคมี และสามารถทนความร้อนได้ประมาณ 80-100 องศาเซลเซียส ซึ่งคุณสมบัติของพลาสติกชนิดนี้คือมีสีขาวขุ่นหรือโปร่งแสง พื้นผิวมีความมันลื่น มีความเหนียวและยืดหยุ่นตีสามารถขึ้นรูปได้ง่าย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส สามารถผสมสีเพื่อให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้ผลิต อีกทั้งยังไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมี จึงไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ ดังนั้นจึงนิยมนำเอาพลาสติกชนิดนี้มาใช้ในการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารรวมไปถึงอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งก็มีตั้งแต่ขวดน้ำดื่ม แกลลอนพลาสติก ถังน้ำ ขวดนม ถุงพลาสติก เป็นต้น

กระบวนการผลิตแกลลอนพลาสติกเบื้องต้น

โดยทั่วไปแล้ววิธีผลิตแกลลอนพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือวิธีที่เรียกว่า Blowing Mold โดยเป็นกระบวนการผลิตสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกชนิด HDPE ทุกรูปแบบ โดยจะเป็นการขึ้นรูปแบบเป่าซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการผลิตขวดและบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะด้านในกลวง โดยเม็ดพลาสติกจะผ่านการหลอมละลายแล้วปล่อยให้ไหลลงมาที่แม่พิมพ์ จากนั้นแม่พิมพ์จะมีการปิดตัวแล้วท่อแกนลมจะทำหน้าที่เป่าขยายพลาสติกให้ขยายออกตามรูปทรงของแม่พิมพ์ ซึ่งวิธีนี้ทำให้สามารถผลิตแกลลอนพลาสติกที่มีรูปทรงแตกต่างกันออกไปได้ตามต้องการ ตามลักษณะของแม่พิมพ์ที่นำมาใช้

เรียกได้ว่าแกลลอนพลาสติกนั้นถูกเรียกขึ้นมาตามหน่วยแกลลอนที่ใช้บรรจุนั่นเองค่ะ โดยเป็นบรรจุภัณฑ์สารพัดประโยชน์ที่สามารถบรรจุของเหลวในปริมาณมาก อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายขนาดบรรจุแล้วแต่ความจุของแกลลอนและความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งจุดเด่นในด้านความแข็งแรงทนทาน ทั้งต่อแรงกระทำภายนอกและสารเคมี มีฝาปิดสนิทมิดชิด และมีหูจับสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก ทำให้แกลลอนพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

เว็บไซต์อ้างอิง

1.https://rb.gy/t7wpa

error: Content is protected !!